เลเซอร์ในแวดวงความงาม(Laser in Cosmetic Dermatology) ไอเท็มน่าสนใจ

เขียนโดย 
ให้คะแนนบทความนี้
(0 โหวต)

 13760897

LASER ( เลเซอร์) มาจากคำว่า Light Amplification by Stimulating Emission of Radiation ได้มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์มากกว่า 30 ปีแล้ว ในช่วงแรกๆ แพทย์ได้นำเลเซอมาใช้รักษาเฉพาะโรค เท่านั้น เช่น มะเร็งผิวหนัง ต่อมาเมื่อวิวัฒนาการก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีการพัฒนา เลเซอร์ให้มีหลายช่วงคลื่นแสง เพื่อเหมาะสมกับเป้าหมายในการรักษาที่เฉพาะขึ้น ปัจจุบันพบว่า มีเลเซอร์อีกหลายยี่ห้อหลายแบบที่นำมาใช้ในแวดวง ความสวยงาม เท่าที่ผู้เขียนรวบรวมได้ในช่วงปี 2009 นี้ ก็มีหลากหลายตัว ทำให้หลายท่านอาจจะสับสน จึงได้จัดแบ่งกลุ่มของเลเซอร์ในแวดวงเวชสำอางออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เพื่อง่ายต่อการแยกแยะ ซึ่งส่วนใหญ่จะแบ่งตามคุณสมบัติของความยาวช่วงคลื่น ( wavelength) หรือ กลุ่มเป้าหมายในการรักษา (Targets or Chormophores) ดังนี้

1. เลเซอร์ในการกำจัดเนื้องอกธรรมดาของผิวหนัง : 

มักจะใช้ในการกำจัดกลุ่มติ่งเนื้อ กระเนื้อ ขี้แมงวัน ใฝขนาดไม่ใหญ่นัก โดยการทำให้ผิวหนังหลุดลอกออกไป โดยไม่มีผลต่อเนื้อเยื่อรอบข้าง ข้อดีของการผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์คือ มีความแม่นยำสูง ไม่มีการเสียเลือด เหมือนการผ่าตัดด้วยมีดผ่าตัด และไม่จำเป็นต้องใช้การจี้ไฟฟ้าห้ามเลือด จึงลดอันตรายจากความร้อนลงได้มากหลังทำเลเซอร์อาจจะมีแผลตื้นๆ ไม่เกิน 5-7 วัน หรือมีสีเข้มขึ้นได้ระยะหนึ่ง แล้วหายเป็นปกติ 
เลเซอร์ในกลุ่มนี้ ได้แก่ CO2 Laser 10,600 nm

 

2. เลเซอร์สำหรับการลอกหน้า (Laser Resurfacing or Ablative Laser Resurfacinf Laser ) : 

การลอกผิวด้วยแสงเลเซอร์นี้ จะยิงแสงเป็นช่วงสั้นๆ ด้วยพลังงานสูง (Ultrapulse) หรือการใช้อุปกรณ์ควบคุมการยิง ที่เรียกว่า Flashscan ที่จะควบคุมการลอกผิวบริเวณกว้าง ได้อย่างสม่ำเสมอ การลอกผิวจะลอกลงไป ลึกประมาณ 2 ใน 3 ของความลึกของหนังแท้ โดยการทำให้ผิวหนังหลุดลอกออกไป โดยไม่มีผลต่อเนื้อเยื่อรอบข้าง มักจะนำมาทำการรักษารอยแผลเป็นชนิดหลุม หรือการรักษาผิวหนังเสื่อมจากแสง (Photoaging) ที่ได้ผลดี ในคนที่มีผิวขาว (skin photo type I-III) ส่วนในคนเอเซีย หรือสีผิวคล้ำ (skin photo type IV-VI) อาจจะมีผลข้างเคียง ทำให้เกิดรอยดำจากเลเซอร์ได้ (PIH=Post Infammatory Hyperpigmentation) ซึ่งอาจจะใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน จึงจะลอก หรือกลับมาสีผิปกติ และอาจจะต้องพักฟื้นหลังการทำเลเซอร์นานหลายสัปดาห์ 
เลเซอร์ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Fractional CO2 Laser ( Ultrapulse,Feathertouch,Lumenis TotalFX ,Active Fx, etc..),Erbium:YAG laser 2.940 nm ( Burane,Cutera Pearl ,Sciton ,etc.)

 

3.การรักษารอยโรคชนิดสีผิวเข้มชนิดตื้น : 

มักจะใช้ในรักษาขี้แมงวันจากแดด(Solar lentigines),ฝ้าชนิดต่างๆ (epidermal or dermal melasma), กระพันธุกรรม (Ephilides), เม็ดสีผิดปกติ(Café au lait macules), ฯลฯ ทำได้โดยการลดจำนวนเซลสี โดยการยิงแสงเลเซอร์ โดยการทำลายเม็ดสี เซลล์สีให้แตกกระจายออก แล้วให้เม็ดเลือดขาวดูดซึมเม็ดสี ให้ค่อยๆ จางลง ด้วยแสงพลังงานสูง และความกว้าง pulse สั้นมากกว่า 100 nm จะสามารถทำลายเซลสีลงบางส่วน ทำให้รอยโรคจางลงได้ การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องทำหลายครั้ง แต่ก็ปลอดภัยเพราะจะทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงน้อยมาก ผลข้างเคียงที่พบได้คือ อาจจะเกิดรอยด่างขาวถาวรได้ ถ้าทำโดยแพทย์ที่ไม่ชำนาญ 
เลเซอร์ในกลุ่มนี้ได้แก่ Q-switched Nd:YAG ( 532 nm) ,Q-switched alexandrite (755 nm) หรือ Q-switched ruby (694 nm) ,Medlite C-6 (Q-switched Nd:YAG ( 532,1064 nm) ,Revlite Q-switched Nd:YAG ( 532,1064 nm)

 

4.การรักษารอยโรคจากเซลสีชนิดลึก : 

มักจะใช้ในการรักษา ปานดำ(ชนิด Nevus of Ota) หรือ กระลึก เช่น Hori nevus ทั้งสองโรค เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคนไทย ในอดีตการรักษาทำได้ยาก และมีปัญหาหลังรักษา เช่นแผลเป็นได้มาก แต่ในปัจจุบัน สามารถรักษาได้ผลดี ด้วยแสงเลเซอร์กำจัดเม็ดสี การรักษาจำเป็นต้องทำซ้ำหลายครั้ง เป็นระยะๆ จนกว่าเซลสีจะถูกทำลาย และเคลื่อนย้ายออกไปหมด 
เลเซอร์ในกลุ่มนี้ได้แก่ Q-switched Nd:YAG(1064 nm) เช่น Medlite C-6 Revlite 

 

5. เลเซอร์ในการรักษาหลอดเลือดผิดปกติที่ผิวหนัง : 

มักจะใช้ในรักษากลุ่มปานแดง หลอดเลือดขยาย หลอดเลือดขอด โดยอาศัยหลักการของการเลือกช่วงคลื่นจำเพาะต่อเป้าหมายนั้นๆ( หลอดเลือดฝอยแดง) โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อ หรือระบบน้ำเหลือง หลอดเลือดดำอื่นๆ แต่บางครั้งอาจจะต้องทำร่วมกับวิธีอื่นๆ ด้วย เช่นการฉายเลเซอร์ ควบคู่กับการฉีดยา เข้าหลอดเลือดในกลุ่มเส้นเลือดขอด สามารถทำลายเส้นเลือดตั้งแต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 จนถึง 3 mm มักจะใช้ในการรักษาเส้นเลือดฝอยผิดปกติที่ใบหน้า ทำให้หน้าแดงได้ง่ายกว่าปกติ, เส้นเลือดขอดที่ขาที่มีขนาดเล็ก 
เลเซอร์ในกลุ่มนี้ได้แก่ Pulse dye laser ( V-beam ),Long-pulsed laser( Mydon,Coolglide), IPL

 

6. เลเซอร์ในการลบรอยสัก : 

การลบรอยสักด้วยเลเซอร์ พบว่ารอยสักสีดำจะได้ผลดีกว่ารอยสักสีอื่นๆ การเลือกใช้เลเซอร์ชนิดใดในการรักษาขึ้นอยู่กับรงควัตถุ หรือ Pigments ที่สักลงไป เช่น สักสีเขียวต้องใช้สีแดงของ Q-switched ruby (694 nm) 
เลเซอร์ในกลุ่มนี้ได้แก่ Q-switched Nd:YAG ( 532 nm) ,Q-switched ruby (694 nm) ,Medlite C-6 (Q-switched Nd:YAG ( 532,1064 nm) ,Revlite Q-switched Nd:YAG ( 532,1064 nm)

 

7. เลเซอร์ในการกำจัดขนกึ่งถาวร : 

มักจะใช้ได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถกำจัดขนได้ถาวร 100 % เพียงแต่อาจจะทำให้ลดลงและทำให้ขนใหม่ขึ้นได้ช้าลง ได้ผลดี ในกลุ่มขนสีดำ หรือสีเข้ม ขนาดไม่ใหญ่นัก เช่น ขนรักแร้ ขนหน้าแข้ง ขนแขน ขนในที่ลับ และได้ผลน้อย หรือต้องทำหลายๆ ครั้ง ในกลุ่มขนสีอ่อน เช่น ขนที่ใบหน้า หรือขนขนาดใหญ่ เช่น หนวดเครา 
เลเซอร์ในกลุ่มนี้ได้แก่ IPL ( Quantum,Plasmalite,Eclipse,Multilight ),Long-pulsed laser( Mydon,Coolglide,Lyra,Cool-touch Varia ) ,Long-pulsed alexandrite laser ( Apogee), Long-pulsed diode laser ( Lightsheer)

 

8. เลเซอร์ในการลบรอยย่น แผลเป็น : 
มักจะใช้เลเซอร์ในช่วงคลื่นแสง infraredโดยจะสามารถกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวหนังได้ จึงทำให้รอยย่นลดลง และผิวหนังตึงขึ้นได้ แต่ก็ต้องทำหลายๆ ครั้ง ได้ผลดีมากน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพผิว ความรุนแรง ริ้วรอยมาก-น้อย 
เลเซอร์ในกลุ่มนี้ได้แก่ Long-pulsed laser( Mydon,Coolglide,Lyra,Cool-touch Varia ),Pulse dye laser( N-lite) ,Long-pulsed Erbium:Glass laser ( Aramis ), Long-pulsed diode laser ( Smoothbeam )

 

9. เลเซอร์ชนิดแสงความเข้มข้นสูง : 
บางคนก็จัดเป็นเลเซอร์ชนิดหนึ่ง บางกลุ่มก็จัดเป็นคลื่นแสงความเข้มสูง และมีความถี่จำเพาะที่เลือกได้หลายช่วงยาวคลื่น จึงทำให้นำมารักษา ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการลดเซลล์สี การรักษาหลอดเลือด การกำจัดขน หรือการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ที่เรียกว่า Photorejuvenation 
เลเซอร์ในกลุ่มนี้ได้แก่ IPL ( Quantum,Plasmalite,Eclipse,Multilight)

 

10. เลเซอร์ในการกระตุ้นคอลลาเจน รักษาริ้วรอย และแผลเป็นชนิดหลุม ( Non-Ablative Fractional Resurfacing : 

เป็นวิธีการที่นำมารักษารอยย่น และแผลเป็นชนิดหลุม โดยการยิงแสงเลเซอร์ ความยาวช่วงคลื่น 1440-1550 nm ซึ่งเป็นช่วงที่มีการดูดซับพลังงาน ที่ชั้น epidermis น้อย แสงจะผ่านลงไปสู่ผิวหนังชั้นล่างได้ดี แสงเลเซอร์จะถูกดูดซับพลังงานด้วยน้ำ และคอลลาเจน ทำให้เกิดความร้อน อุณหภูมิประมาณ 50-60 องศาเซนติเกรด ซึ่งจะนำไปสู่การกระตุ้น สารที่เรียกว่า Heat shock proteins ซึ่งกระตุ้น mediators เช่น Transforming growth factor β (TGF β) ทำให้เกิดการสร้างคอลลาเจนใหม่ขึ้นมา มีผลให้ผิวหนังมีการตึงตัวเพิ่มขึ้น และรอยย่น หรือแผลเป็นชนิดหลุมตื้นขึ้น การรักษาต้องทำซ้ำหลายครั้ง ประมาณ 5-8 ครั้ง ห่างกัน 2-4 อาทิตย์ และจะได้ผลอยู่ในระดับ 50-70 % 
เลเซอร์ในกลุ่มนี้ได้แก่ Mydon ,Cooltouch (Nd:YAG 1320 nm), Smoothbeam (Diode 1450 nm) Aramis (Erbium:Glass 1540 nm) ,Fraxel Re:store (Erbium:Glass 1550 nm) , Fine Scan (Erbium:Glass 1550 nm)

 

11. เลเซอร์ในการดึงหน้าโดยไม่ต้องผ่าตัด (Nonsurgical face lift) : 
เมื่อมีอายุมากขึ้น จะเกิดการยืดตัวของคอลลาเจนในชั้นหนังแท้(Dermis) ทำให้เกิดการหย่อนยานของผิวหนัง บริเวณแก้ม ใต้ตา คอ หน้าผาก และเกิดร่อง (folds) ในบางตำแหน่ง เราสามารถรักษาด้วยเลเซอร์เพื่อให้ดีขึ้น กระชับขึ้น ลดการหย่อยคล้อย ด้วยหลักการ กระตุ้นให้เกิดความร้อน ประมาณ 50-60 องศาเซนติเกรด ในชั้น dermis ด้วย Electrosurgery machine ที่ให้ความถี่สูง ในช่วง Radiofrequency (ประมาณ 4 MegaHertz ) รายงานพบว่า จะมีการตึงตัวของผิวหนัง ร่วมกับการสร้างคอลลาเจนได้ประมาณ 20-30% 
เลเซอร์ในกลุ่มนี้กลุ่ม RF ทั้งหลายได้แก่ Electro-Optical Synergy (ELOS-tm ) ,Thermage ,Titan

 

อนึ่งการรักษาด้วยเลเซอร์แม้จะได้ผลดีและมีความปลอดภัยสูงขึ้น มีหลากหลายยี่ห้อ หลายแบบ และมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ กันมาก การตัดสินใจเลือกการรักษาเพื่อหวังผลที่ดีที่สุด ต้องศึกษาและปรึกษากับแพทย์อย่างละเอียด ทั้งผลการรักษา และผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันควรจะตรวจสอบค่าใช้จ่ายว่าเหมาะสม กับผลที่คาดว่าจะได้หรือไม่ เพราะราคาแตกต่างกันมาก ทั้งในสถานบริการเอกชน หรือของรัฐ และในอนาคตบทความนี้อาจจะล้าสมัยไปบ้าง เพราะอาจจะมีวิวัฒนาการและความรู้ใหม่ๆ มาให้ได้เห็นได้เรื่อยๆ แล้วจะค่อยๆ นำมาเสนอปรับปรุง ให้เป็นระยะๆ นะครับvcr.เรียบเรียงใหม่และค้นคว้าโดย นพ. จรัสพล รินทระ. 

 

อ่าน 7193 เวลา ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ วัน, วันที่ เดือน ปี ชม:นาที

 

โทร